มือถือ: 063 516 6296 โทร: 0 2956 6118 โทรสาร: 0 2956 6117 komcharne@gmail.com

ปัญหาขาดอาหารและโรคอ้วนในเด็กทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรุนแรงขึ้น

ปัญหาขาดอาหารและโรคอ้วนในเด็กทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรุนแรงขึ้น

ปัญหาขาดอาหารและโรคอ้วนในเด็กทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรุนแรงขึ้น

 

ปัญหาขาดอาหารและโรคอ้วนในเด็ก

ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรุนแรงขึ้น

 
ยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกชี้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบกับวิกฤติด้านโภชนาการในเด็กทั้งที่ขาดอาหารและโรคอ้วน
 
องค์การกองทุนเพื่อเด็กเเห่งสหประชาชาติหรือ UNICEF และองค์การอนามัยโลกชี้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบกับวิกฤติด้านโภชนาการ ทั้งทุพโภชนาการและโรคอ้วนในเด็ก ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เจริญเติบโตมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
รายงานของยูนิเซฟกับองค์การอนามัยโลกชิ้นนี้ชี้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประสบกับภาระค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากปัญหาทุพโภชนาการและโรคอ้วนในเด็ก ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศรายได้ปานกลาง อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และประเทศไทย
รายงานชิ้นนี้เปิดเผยว่า ในอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียว ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็ก นำไปสู่การเกิดโรคที่ไม่ติดต่อหลายโรคซึ่งสร้างค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขถึงปีละ 2 เเสน 4 หมื่น8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
คุณ Dorothy Foote ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการระดับภูมิภาคแห่งยูนิเซฟ กล่าวว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งปัญหาโภชนาการของเด็กและคนทั่วไป
เธอกล่าวว่า แม้ว่าองค์การยูนิเซฟกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับเด็ก เเต่ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในด็กเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มประชากรทั่วไปโดยรวมอีกด้วย ปัญหานี้จะกระทบทั้งครอบครัว ชุมชน ตลอดจนรัฐบาล และสังคม เนื่องจากผลกระทบจากภาระทางสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ในอินโดนีเซีย เด็ก 12 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคอ้วน และเด็กอีก 12 เปอร์เซ็นต์ขาดอาหาร ในประเทศไทย รายงานชิ้นนี้ชี้ว่าปัญหานี้เพิ่มความรุนแรงขึ้น โดยเด็ก 7 เปอร์เซ็นต์ขาดอาหาร ขณะที่ เด็ก 11 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคอ้วน
คุณ Foote กล่าวว่าภาวะทุพโภชนาการมีผลกระทบที่เรื้อรังและรุนแรง อาทิ ทำให้เกิดภาวะเเคระแกร็นในเด็ก ประเทศลาวมีอัตราเด็กตัวเเคระเเกร็นสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ และอัตราเด็กแคระเเกร็นที่สูงนี้ยังพบในกัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียด้วย
คุณ Foote ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการระดับภูมิภาคแห่งยูนิเซฟ กล่าวว่า หากเด็กไม่ได้รับอาหารเพียงพอ จะมีผลกระทบทั้งความสูงและพัฒนาการต่างๆ ในร่างกาย และนอกจากปัญหาทุพโภชนาการแล้ว ภูมิภาคนี้ยังประสบกับปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในรายงานชิ้นนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านอาหารในเด็ก เกิดจากการกินอาหารขยะกันมากขึ้น ทั้งที่เป็นอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่มีไขมันไม่อิ่มตัวหรือมีปริมาณน้ำตาลสูง แต่มีคุณค่าทางอาหารต่ำ รายงานนี้ชี้ว่าการไม่ออกกำลังกายและวิถีชีวิตสมัยใหม่ก็มีบทบาทต่อเรื่องนี้
คุณ Foote กล่าวว่า คนในภูมิภาคยังด้อยความรู้เกี่ยวกับโภชนาการที่ดีต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ไม่เฉพาะในระดับประชาชนเท่านั้น แต่ในระดับรัฐบาลและผู้ร่างนโยบายอีกด้วย
การเติบโตทางเศรษฐกิจได้นำไปสู่การขยายตัวของตลาดอาหารที่ไม่มีคุณค่าต่อร่างกายไปยังเขตชนบท รวมทั้งครอบครัวคนยากจนและคนชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อหาผลิตภัณฑ์อาหารขยะไปรับประทาน แทนที่จะเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ทางยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกชี้ว่า รัฐบาลในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องควบคุมการขายอาหารขยะเเละเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงแก่เด็กให้เข้มงวดมากขึ้นและควบคุมไม่ให้ขายอาหารไม่มีคุณค่าเหล่านี้ในโรงเรียน ปัญหาเด็กขาดอาหารยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่มารดาเลิกเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตนเองอีกด้วย โดยหันไปใช้นมผงแทน
รายงานชิ้นนี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ปรับปรุงแนวการเลี้ยงทารกและเด็กเล็ก จัดหาการบำบัดเเก่เด็กที่เกิดภาวะทุพโภชนาการรุนแรง เพิ่มความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมความสะอาดของอาหาร และต้องส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียนให้นานปีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้รายงานของยูนิเซฟกับองค์การอนามัยโลก ยังต้องการให้รัฐบาลต่างๆ เดินหน้าต่อไปเพื่อลดความยากจนลง
 
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)
ที่มา : http://www.voathai.com/a/asia-child-nutrition-tk/3331820.html?ltflags=mailer
 

ส่งความคิดเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked *